ศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ประจำปี 2567 The First CRA Disaster and Emergency Management Conference: “Time To Move Forward”
ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2567
ณ ห้องแกรนด์บอลรูมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ร่วมกันเปิดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด The First CRA Disaster and Emergency Management Conference: “Time To Move Forward”
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน และเสริมสร้างความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ
โดยการประชุมฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของประเทศไทยในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่ ภัยสึนามิในปี 2547 และการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 และเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เช่น ไฟไหม้กลางกรุง น้ำท่วม มลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทำให้หน่วยงานทั้งหลายเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานประกอบด้วยสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องแกรนด์บอลรูมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ได้รับพระราชทานนามโดย ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมด้านการแพทย์ภัยพิบัติแห่งภูมิภาคอาเซียน” เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
📌📌ไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินและการตอบโต้ภัยพิบัติ (CDEM Rally) ซึ่งโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ส่งทีมสหวิชาชีพมากกว่า 10 ทีม มาชิงรางวัลกันอย่างคึกคัก พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจาก สมาคมการดับเพลิงและช่วยชีวิต FARA ที่นำวิทยากรมาร่วมในการเป็นกรรมการ และสนับสนุนอุปกรณ์รอกหนีไฟ ในการแข่งขันครั้งนี้ อีกทั้งได้เชิญทีม ERT จาก โรงพยาบาลหัวหินมาร่วมสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงด้วย (ณ โอกาสนี้ ทาง CDEM ได้เชิญ อ.ทอม คณาทัต จันทร์ศิริ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ” Discussion panel : United leadership and decentralization for resilient collaboration” กับ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณะสุข สภากาชาดไทย สพฉ. กรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย และ สมาคมการดับเพลิงและช่วยชีวิต FARA ในวันรุ่งขึ้น 30 July 2024 โดยมี ผศ.ดร.พญ.ภัทรานิษฐ์ ภัทรพรเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ) นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินที่น่าสนใจ โดยบทคัดย่อทั้งหมดที่ส่งมาจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารระดับโลก การประชุมฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากรทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการจัดการภัยพิบัติทั่วโลกหลากหลายประเทศ จำนวน 7 ท่าน โดยรายชื่อดังนี้
- Associate Professor Amir Khorram-Manesh, M.D, Kingdom of Sweden,
- Associate Professor Lesley Gray,Kingdom of New Zealand,
- Professor Shinichi Egawa, M.D.,Japan ,
- Dr. Mohd. Zaki Fadzil bin Senek, Malaysia
- Associate Professor Krzysztof Goniewicz, Poland
- Assistant Professor Ali Haedar, M.D., Republik Indonesia
- Associate Professor Dr. April Bautista Llaneta, MD, MOH, FPCEM, Republic of the Philippines
เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์ภัยพิบัติในระดับนานาชาติ และคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยั่งยืนในอนาคต