การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและผู้ประสบภัยลงจากอาคารสูงด้วยรอกหนีไฟ Fire Escape Device
1. รอกหนีไฟ Fire Escape Device คืออุปกรณ์ ลักษณะเหมือนรอก ใช้เพื่อนำคนหรือสิ่งของลงจากที่สูง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ (บางชนิดอาจนำขึ้นได้) โดยมีเข็มขัดรัดตัวอยู่ปลายเชือก และระบบของรอกจะมีเบรคอัตโนมัติ เพื่อนำคนหรือสิ่งของนั้นลงด้วยความเร็วที่ปลอดภัย
“รอกหนีไฟ” คืออุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วย ผู้ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หรือไม่สามารถลงทางปกติได้ ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากมืออาชีพได้ บางหน่วยงานเรียกว่า “รอกหนืด”
ส่วนประกอบของรอกหนีไฟ
- ตัวรอก ทำด้วยโลหะที่แข็งแรง ข้างในมีระบบเฟืองทด และตัวเบรค เพื่อช่วยลดความเร็ว (ตัวเฟืองนั้นควรเป็นโลหะที่เหมาะสม จะมีอายุใช้งานนาน บางยี่ห้อใช้เฟืองพลาสติค เพื่อการใช้งานเพียง 2-3 ครั้ง )
- สายเคเบิ้ล (Cable) เส้นแกนกลางเป็นลวดสลิงหุ้มด้วยไนลอน หรือฝ้าย มีความยาวเหมาะสมกับความสูงของอาคาร ปกติจะใช้ต่ำสุด 15 เมตร (5 ชั้น) และสูงสุดไม่เกิน 30 เมตร(10 ชั้น) (ความยาวมากกว่านี้สามารถสั่งพิเศษได้ แต่ไม่นิยม เพราะการใช้รอกหนีไฟ จะใช้นำลงแค่ข้ามช่วงเหตุไฟไหม้ระยะไม่ห่างกันมากนัก)
- เข็มขัดรัดตัว (Harness) ใช้คล้องไว้ใต้แขนระหว่างอก และมีแถบโลหะเพื่อรูดกระชับ จะมี 1 ชุดอยู่ที่ตัวรอก สำหรับ รอกทางเดียว และมี 2 ชุดอยู่ปลายสายเคเบิ้ลทั้ง 2 ข้างของ รอกสองทาง
- ห่วงคล้อง (Eyebolt) ต้องยึดเหนี่ยวอย่างแข็งแรงอยู่กับอาคารสถานที่ ควรติดตั้งให้สูงเกิน 2 เมตร ( ถ้าเอื้อมไม่ถึง ควรหาเก้าอี้ หรือ Step เตรียมไว้ ) หลังจากติดตั้งรอกเข้ากับห่วงคล้องนี้แล้ว ตัวรอกจะต้องอยู่สูงกว่าศีรษะของผู้ประสบภัยเสมอ เพื่อการเคลื่อนย้ายลงได้สะดวก รวดเร็ว
2.ชนิดของรอกหนีไฟ
ถ้าแบ่งชนิดของรอกหนีไฟตามจำนวนการใช้ต่อครั้ง จะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- ชนิดใช้ได้คราวละครั้งเดียว คนเดียว เมื่อใช้เสร็จแล้วต้องนำส่งผู้จำหน่ายไปทำการกรอกลับคืน ในประเทศไทยเมื่อก่อน มีขายอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ Exit Traveler และ Sky Line
ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น เช่น Sky Saver ฯลฯ
- ชนิดที่ใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบลงทางเดียว และลง 2 ทาง ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีส่วนประกอบเหมือนกัน สามารถปรับเปลี่ยนไปมาได้
- รอกอัจฉริยะ ที่ใช้กับเชือก (Rope Rescue) ที่มีความยาวได้ไม่จำกัด เป็นสุดยอดของรอกหนีไฟ(ยี่ห้อ”เดียส”) และราคาก็สุดยอด
2.1 แบบลงทางเดียว
รอกชนิดนี้เหมาะที่จะใช้สำหรับการกู้ภัย หรือการหนีไฟเฉพาะคน
ลักษณะรอก
2.1.1 ปลายสายเคเบิ้ลทั้ง 2 ข้าง เป็นห่วงคล้อง
2.1.2 เข็มขัดรัดตัว ติดกับตัวรอก คนจะลงพร้อมกับรอก ติดห่วงคล้องที่ปลายสาย เพื่อยึดติดกับอาคาร
วิธีใช้
ก. นำชุดรอกมาคล้องปลายสายเคเบิ้ลเข้ากับห่วงคล้อง หรือสิ่งยึดเหนี่ยวแข็งแรง ที่ควรอยู่สูงกว่าศีรษะของผู้จะลง
ข. โยนสายเคเบิ้ลอีกปลายลงสู่เบื้องล่าง
ค. นำเข็มขัดรัดตัว ซึ่งติดอยู่กับรอกคล้องเข้าใต้แขนระหว่างอก
ง. นำตัวออกนอกอาคาร และปล่อยตัวลง โดยหันหน้าเข้าหาตึก ถ้าต้องการเบรก เพื่อหยุดระหว่างทาง ใช้มือยึดดึงสายเคเบิ้ลอีกข้าง (ควรสวมถุงมือ) ก็จะสามารถหยุดเพื่อชะลอความเร็วได้ (ต้องฝึกฝนจนชำนาญ)
จ. เมื่อคนแรกลงถึงพื้น คนต่อไปที่จะลง ต้องดึงสาว สายเคเบิ้ลที่ติดกับรอกขึ้นมาข้างบน แล้วสลับห่วงคล้องที่อยู่อีกปลายยึดติดอาคาร และโยนสายเคเบิ้ลที่เหลือลงข้างล่าง
ฉ. ปฏิบัติตามข้อ ค. ต่อไป
2.2 แบบลง 2 ทาง
รอกชนิดนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด สามารถใช้งานได้คล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และประกอบกับเทคนิคการใช้ จะมีความปลอดภัยสูง มักใช้กันมากในโรงพยาบาล โรงแรม และคอนโดมิเนียม
หมายเหตุ : รอกชนิดนี้มีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่หลายยี่ห้อ และหลายคุณภาพ ขึ้นอยู่กับราคา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 8,000.- จนถึง 30,000.- และสุดยอดรอกหนีไฟราคาแสนกว่าบาท
ลักษณะรอก
2.2.1 ตัวรอกมีห่วงคล้องเพื่อยึดติดกับอาคาร ควรติดตั้งใช้งานบริเวณด้านนอกอาคาร เพื่อให้สายเคเบิ้ลทิ้งดิ่ง ลงด้านล่างโดยตรง
2.2.2 ปลายสายเคเบิ้ลทั้ง 2 ข้าง มีเข็มขัดรัดตัว (Harness)
2.2.3 มีเชือกต๋งที่คล้องกับห่วงยึดสายรัดตัวทั้ง 2 ข้าง
3.วิธีใช้ และบุคลากร (เตอร์,ตรึง,ต๋ง,เซฟ)
ก. (1) นำรอกมาติดตั้งกับห่วงคล้องถาวร ที่ติดยึดอย่างแข็งแรงกับอาคาร ( เมื่อคล้องรอกแล้ว ตัวรอก และสายคล้องตัว ต้องอยู่สูงกว่าศีรษะของผู้ลง และสายเคเบิ้ลต้องทิ้งดิ่งอยู่นอกอาคาร ) ผู้ที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า “เตอร์” ซึ่งย่อมาจาก Jump Master ควรมีมากกว่า 1 คน สวมถุงมือกู้ภัยอย่างดี
(2) ติดตั้ง”สายเซฟ” ( คือเชือกสำหรับดึงรั้งผู้ประสบภัย หรือผู้ฝึกหัด ไว้กันพลัดตก เป็นลำดับที่ 2 ) โดยปลายข้างหนึ่งติดเข็มขัดรัดตัว (Safety belt) ผู้ถูกนำลง โดยคล้องผ่านห่วง Snap link ที่แขวนอยู่ โยงลงไปยังเจ้าหน้าที่ “เซฟ” คอยดึงรั้งหากมีข้อผิดพลาด
ข. “เตอร์” โยนปลายสายเคเบิ้ลที่เหลืออีกด้านหนึ่งลงข้างล่าง พร้อมกับ เชือกต๋ง (คือเชือกที่ติดกับเข็มขัดรัดตัวผู้ประสบภัย ใช้ดึงร่างผู้ประสบภัย ออกห่างจากตัวอาคาร กันการกระทบกระแทก อาจเป็นเชือกเส้นเดียวกับ “เซฟ”ก็ได้
ค. “เตอร์” นำผู้ประสบภัย (แม้เป็นผู้ป่วยหมดสติ) มาคล้องกับเข็มขัดรัดตัวที่ใต้แขนระหว่างอก แล้วล็อคไว้ไม่ให้เลื่อนหลุด ก่อนนำร่างออกนอกอาคาร โดยหันหน้าเข้าหาตึก ถ้ามีสติ ให้ยกเท้าพาดไปทางด้านหลัง ทีละข้าง
ง. “ ตรึง ” ย่อมาจาก ผู้ยึดตรึง ดีงสายเคเบิ้ลไว้ให้ตึง เพื่อยึดตรึงร่างผู้ประสบภัย ให้อยู่กับที่ ไม่เลื่อนไหลลง เพื่อความปลอดภัย โดย “เตอร์” ออกคำสั่งว่า “ตรึงดึง”, “ตรึง” ต้องยึดตรึงไม่ให้คนเคลื่อนที่ลงแล้วตอบรับว่า “ตรึงดึง” เตอร์ ออกคำสั่งว่า“พร้อม” หรือ “Stable” (สเตเบิล)
จ. “ ต๋ง ” ผู้ทำหน้าที่ดึงเชือกต๋ง ซึ่งปลายยึดติดกับเข็มขัดรัดตัวผู้ประสบภัย คอยฟังคำสั่งจาก “เตอร์” เมื่อ “เตอร์” สั่งให้ตรึงดึง และเมื่อ Stable แล้วจึงสั่งให้ “ต๋งดึง” หมายความว่า ต๋งดึง พร้อมกับเตอร์ที่ใช้มือทั้ง 2 ของตัวเอง จับมือทั้ง 2 ของผู้ประสบภัยไว้ และดันออกให้ห่างไปทั้งร่างผู้ประสบภัย โดยดันให้ห่างจากอาคาร เมื่อคนที่เป็นต๋งดึงแล้ว ให้ขานว่า “ต๋งดึง”
ฉ. “เตอร์” สั่งต่อว่า “ตรึงปล่อย” ผู้ยึดตรึงปล่อยสายเคเบิ้ลที่ยึดอยู่ทันที ไม่ต้องค่อยๆ ผ่อน เพราะตัวรอกมีเบรคอัตโนมัติ ร่างของผู้ประสบภัยจะเคลื่อนที่ลง จนถึงพื้นอย่างปลอดภัย เพียงแต่ “เตอร์” ต้องคอยจัดสายเคเบิ้ลไม่ให้ไปเสียดสีกับร่างผู้ประสบภัย
ช. ผู้ประสบภัยคนแรกถึงพื้น ปลายสายเคเบิ้ลที่มีเข็มขัดรัดตัวฝั่งตรงข้าม จะขึ้นไปข้างบน เพื่อพร้อมรับผู้ประสบภัยคนต่อไป โดยวิธีเดิม
ซ. ในการฝึกซ้อมทุกครั้ง ต้องมีผู้ทำหน้าที่ “ เซฟ ” ( อย่าประมาท )
4. ข้อควรระวัง
- ในกรณีที่มีฝึกซ้อมการใช้รอกฯ ก่อนที่จะนำคนลงสู่ข้างล่าง “เตอร์” ต้องถามความพร้อมแต่ละตำแหน่ง (เซฟ ต๋ง ตรึง) ว่าพร้อมมั้ย ก่อนทุกครั้ง ( ถ้าไม่พร้อมจะไม่นำคนลง )
- พึงจำไว้ว่า “ ตรึง ต้องดึงตึง แล้ว ต๋งดึง ตรึงจึงปล่อย ”
- และที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนที่จะทำหน้าที่ช่วยชีวิตคนอื่น ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จนชำนาญ มีความมั่นใจใน เครื่องมือ และฝีมือ 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดเวลา (สำหรับ FARA ต้องมีวุฒิบัตร รับรอง)
- อย่าประมาท เลินเล่อ หรือล้อเล่น
- ตรวจตราอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนให้ปลอดภัยก่อนใช้งาน และไม่ใช้รอกต่อเนื่องนานเกินไป (ความสูง 3 ชั้น ไม่เกิน 10 ครั้ง) เพราะจะเกิดความร้อนสูง จนอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย
- ทำบันทึกการฝึกซ้อม (Log Book) ทุกครั้ง เพื่อให้ทราบจำนวนการใช้งาน (เพื่อหาความสึกหรอ) หากได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี สามารถใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 500 ครั้ง (ข้อกำหนดจากโรงงาน 100 ครั้ง)
ชั่วโมงบินของผู้ฝึก (เพื่อทราบความชำนาญ) และเป็นการประเมินผลการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับหน่วยงานที่ได้รับมาตรฐาน FARA-FS Certified หรือ ASIA-SHE จะต้องส่งรายงานนี้กับสมาคมฯ FARA ด้วยทุกปี
อุปกรณ์เสริมรอกหนีไฟ (คุณภาพ และมาตรฐานขึ้นอยู่กับงบประมาณ แต่จะต้องมีความปลอดภัยเป็นหลัก)
- ถุงมือกู้ภัย อย่างน้อย 5 คู่ (เตอร์ 2 คน , ตรึง 1 คน , ต๋ง 1 คน และเซฟ 1 คน)
- ปลอกนวมหุ้มสายรัดตัว 2 คู่ เพื่อรองใต้แขนกันเจ็บ
- เชือกต๋ง (ความยาวเท่าความสูงที่ต้องการ และขนาดเหมาะมือ)
- เปล หรือตะกร้าพิเศษ เพื่อนำผู้ประสบภัยลง
- สายสลิงยึดติดอาคารเพื่อคล้องรอกในบริเวณที่ไม่มีห่วงคล้องถาวร พร้อมยางรองสายเพื่อป้องกันการครูดกับมุม
- สายเซฟ พร้อม สแนปลิ้ง( Carabiner ) และเข็มขัด ( อาจเป็นเส้นเดียวกับเชือกต๋งได้ )
การแบ่งหน้าที่ ERT เพื่อฝึกใช้รอกหนีไฟ
5. การฝึกการช่วยเหลือแบบ 4 คน – 4 นาที( 4MIN – 4MEN )
ด้วยสาเหตุที่เพลิงสามารถกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่วจะมีภยันตรายจากควันและความร้อนสูง การช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น การฝึกการช่วยชีวิตด้วยรอกหนีไฟ จึงได้กำหนดรูปแบบการฝึกซ้อมให้ผู้ฝึก 4 คน จะต้องช่วยนำผู้ป่วยสมมุติ 4 คน ลงจากที่เกิดเหตุ (ชั้น 3 ของอาคาร) ให้ครบถ้วนถึงพื้นดิน ภายใน 4 นาที (ต่อรอก 1 ตัว)
จึงเรียกการฝึกรูปแบบนี้ว่า 4 MIN – 4 MEN (โฟร์มิน – โฟร์แมน)
6. การควบคุมระบบหายใจ โดยใช้ AMBU BAG (off-on Ambu)
ในกรณีผู้ป่วยวิกฤติจากหอผู้ป่วยหนัก (ICU) จะต้องคำนึงถึงการช่วยหายใจ โดยต้องมีผู้รับผิดชอบ 2 คน (Ambu1 และ 2) อยู่ด้านบน 1 คน (Ambu1) และคอยด้านล่างอีก 1 คน (Ambu2)
– ก่อนส่งต่อผู้ป่วยลงด้านล่าง Ambu1 จะแจ้ง Ambu2 ว่า
“เตรียม Off Ambu” ….Ambu2 จะตอบว่า “ทราบ…เตรียม Off Ambu”
– เมื่อพร้อมส่งต่อผู้ป่วยลง Ambu1 จะแจ้งว่า “Off Ambu”
Ambu2 จะเริ่มตอบว่า “ทราบ Off Ambu” และนับทันที
“ 1 และ 2 และ 3 และ 4…..และ 13” … จนพร้อม On Ambu จึงหยุดนับ และแจ้งว่า “On Ambu ที่ 13 วินาที”
แล้วบันทึกไว้ให้แพทย์ทราบว่า มีการ Off Ambu 13 วินาที ขณะนำลงรอกหนีไฟ
หมายเหตุ
1. พนักงาน Ambu1 และ 2 ต้องมี Ambu Bag ประจำตัว
2. ควรมีกระเป๋าเป้ คล้องตัวผู้ป่วย เพื่อใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยนำลงมาด้วย เช่น ถุงน้ำเกลือ Foley Catheter ถุงเลือด ฯลฯ
7. มาตรฐานการติดตั้งรอกหนีไฟ ในโรงพยาบาล
- อาคารสูง 2 ชั้น ไม่เหมาะสมในการใช้รอกหนีไฟ ควรใช้บันไดฉุกเฉินแบบต่างๆ
- ชั้น 3 ขึ้นไป ชั้นละ 2 ตัว (ให้พิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยด้วย)
- ห่วงคล้องที่ยึดเหนี่ยวแข็งแรง ในจุดที่เหมาะสม ชั้นละ ไม่น้อยกว่า 4 จุด ให้พิจารณาจากจำนวนผู้ป่วย และต้องเผื่อไว้ กรณีมีเปลวไฟลามออกมาด้านที่เตรียมไว้ ซึ่งไม่สามารถลงได้
8. ในการคำนวนอุปกรณ์รอกหนีไฟ ให้พิจารณาอย่างรอบคอบที่เกี่ยวกับปัจจัย ดังนี้
อุปสรรค – การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกทางหน้าต่าง ,ระเบียง ได้หรือไม่
– อพยพลงถึงพื้น ปลอดภัยหรือไม่
– สภาพแวดล้อมใกล้อาคาร เป็นอุปสรรคหรือไม่ เช่น มีสายไฟฟ้าแรงสูง
โอกาส – มีทางเชื่อม ระหว่างตึก
– มีทางลาดเพื่อเข็นผู้ป่วย ลงได้สะดวก
9. หมายเหตุ
9.1 สำหรับโรงพยาบาลอาคารสูง เมื่อเกิดเหตุที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหนัก ICU ควรย้ายผู้ป่วยลงรอกฯ แล้วจัดให้มี “จุดปลอดภัยผู้ป่วยวิกฤติ”ที่รองรับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย (ควรมี 2 จุด และมีป้ายแสดงไว้ชัดเจน)
*** ต้องอพยพออกจากพื้นที่อันตรายภายใน 4 นาที ( 4 MIN. – 4 MEN 4 นาที 4 คน )
: โครงการช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลอาคารสูง ยินดีให้คำปรึกษา โดยติดต่อ สมาคมฯ FARA โทร. 081-6393529 , 081-4844838
9.2 ผู้ที่ต้องใช้รอกหนีไฟ คือ เจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยนั้นๆ ต้องได้รับการฝึกตามมาตรฐาน เพราะไม่มีใครที่อยู่นอกพื้นที่ จะมาช่วยท่านได้ทันเวลา
9.3 ในหอผู้ป่วยนั้นๆ จะต้องมีอุปกรณ์เสริม คือ เปลผ้าใบฉุกเฉิน Soft Stretcher, Spinal Board, รถเข็นผู้ป่วย, กระเป๋าเป้ใส่ของผู้ป่วยติดตัว